ข่าวค่าไฟฟ้าจ่อขึ้น 5 บาท ต่อหน่วย

เช้านี้ที่หมอชิต – ราคาพลังงานผันผวน ก๊าซแพง เงินเฟ้อพุ่ง ค่าเงินบาทอ่อนตัวลง เป็นปัจจัยลบ ที่มีโอกาสส่งผลให้ค่าไฟฟ้า งวดถัดจากนี้พุ่งสูงทุบสถิติที่หน่วยละ 5 บาท

ค่าไฟฟ้าจ่อขึ้น 5 บาท ต่อหน่วย
คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ.อยู่ระหว่างพิจารณาทบทวน และปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร อัตโนมัติ หรือ ค่าเอฟทีงวดใหม่ เดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม นี้ หลังพบว่าต้นทุนการผลิตพุ่งไม่หยุด ทั้งราคาก๊าซธรรมชาติเหลวหรือ LNG จากที่ซื้ออยู่ 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้าน BTU ล่าสุดเพิ่มเป็น 30 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้าน BTU ซึ่งเท่ากับว่าต้นทุนค่าเอฟทีมีแนวโน้มพุ่งสูงถึง 90-100 สตางค์ต่อหน่วย และอาจทำให้ ต้องปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าเพิ่มจากหน่วยละ 4 บาทในปัจจุบัน เป็นหน่วยละ 5 บาท ในช่วงที่เหลือของปี โดยคณะกรรมการ กกพ.จะประเมินสถานการณ์ และสรุปค่าเอฟทีอย่างเป็นทางการ ช่วงปลายเดือนนี้ และมีความเป็นไปได้สูงมาก ที่ไทยจะต้องเผชิญกับภาวะค่าไฟแพงต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีนี้ ยาวไปจนถึงปีหน้า ขณะที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต หรือ กฟผ. ก็แบกรับแทนประชาชนอีกกว่า 80,000 ล้านบาท ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่า อาจจะต้องแบกรับภาระมากแตะ 100,000 ล้านบาท ถึงขั้น กฟผ. ต้องเตรียมกู้เงินมาเพื่อเสริมสภาพคล่อง อีก 25,000 ล้านบาท เลยทีเดียว

คนไทย จำทนรายได้ไม่พอรายจ่าย
ในยุคค่าครองชีพแพง ค่าแรงเท่าเดิม ประชาชนส่วนใหญ่มีรายได้น้อยกว่ารายจ่าย โดยผลสำรวจนิด้าโพล เรื่องปัญหาการใช้จ่ายของประชาชน ส่วนใหญ่ ระบุรายจ่ายมากกว่ารายได้ และที่ส่งผลกระทบมากที่สุดคือ น้ำมัน

จากการสำรวจของ นิด้าโพล ยังพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 47.10% มีรายได้ลดลง 46.72% เท่าเดิม และมีเพียงแค่ 6.18 % เท่านั้นที่มีรายได้มากขึ้น

อีกทั้งรายได้เมื่อเปรียบเทียบกับรายจ่ายในแต่ละเดือนของประชาชน อันดับ 1 รายได้น้อยกว่ารายจ่าย 60.06% อันดับ 2 รายได้พอ ๆ กับรายจ่าย 32.62% และอันดับ 3 รายได้มากกว่ารายจ่าย 7.32%

ส่วนการใช้จ่ายในปัจจุบันที่สร้างผลกระทบต่อประชาชนมากที่สุด อันดับ 1 รายจ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิง 32.73% อันดับ 2 รายจ่ายด้านอาหารประจำวัน 25.79% อันดับ 3 รายจ่ายด้านไฟฟ้าในครัวเรือน 13.47% อันดับ 4 รายจ่ายจ่ายด้านแก๊สหุงต้ม 6.10% อันดับ 5 รายจ่ายด้านการผ่อนชำระค่ารถ 3.36% อันดับ 6 รายจ่ายด้านน้ำประปา 3.18% อันดับ 7 รายจ่ายด้านการผ่อนชำระค่าบ้าน 2.79% อันดับ 8 รายจ่ายด้านอุปกรณ์หรือวัตถุดิบในการประกอบอาชีพ 2.32% อันดับ 8 รายจ่ายด้านการเรียนหนังสือของตนเองหรือบุตรหลาน 2.32% อันดับ 9 รายจ่ายด้านค่าเช่าที่อยู่อาศัย 1.79% อันดับ 10 รายจ่ายใดที่สร้างผลกระทบ 1.56% อันดับ 11 รายจ่ายด้านการโดยสารขนส่งสาธารณะ 1.50% และยังมีรายจ่ายอื่น ๆ ได้แก่รายจ่ายด้านหนี้สินนอกระบบ การใช้จ่ายด้านยาและเวชภัณฑ์ การใช้จ่ายด้านโทรศัพท์มือถือการใช้จ่ายด้านอินเทอร์เน็ต การใช้จ่ายด้านเสื้อผ้า และเครื่องแต่งกาย และการใช้จ่ายด้านเคเบิ้ลทีวี 3.05%